“เสรีภาพของสื่อ…ไม่ได้ แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ หากปราศจากสิทธิและอำนาจของประชาชนในการถ่วงดุลและล้อมกรอบเสรีภาพนั้น เพื่อให้สื่อทำหน้าที่ด้วยสำนึกแห่งจรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์แก่มวลชนอย่างแท้จริง หนังสือเล่มนี้ได้ฉายภาพสื่อในแง่มุมต่างๆ ในฐานะ “คนเฝ้าสื่อ” ที่ปรารถนาให้สื่อทำหน้าที่ “ผู้นำความคิดแก่ประชาชน” ได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมมากที่สุด
เพราะสื่อคือ สามัญชนคนธรรมดาที่มีฐานะเป็นบุคคลสำคัญของทุกประเทศ !
ในท่ามกลางผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคม สื่อมวลชนนับเป็น “Master of thoughts” ที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดวาระทางสังคม เนื่องจากการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยช่องทางสื่อในการเข้าถึงสถานการณ์บ้านเมือง ถ้าสื่อไม่ดำรงตนเป็น Watchdog ที่ดี ประชาชนอาจได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนไปจากความเป็นจริงและมีส่วนประกอบสร้างให้ประวัติศาสตร์ สังคม และบริบทบ้านเมืองผิดเพี้ยนไปได้ เป็นนิมิตหมายที่ดี…ที่มีประชาชนบางกลุ่มตั้งธงตนเองเพื่อทำหน้าที่คอยตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ซึ่งมองว่า “ถ้าสื่อไม่ดี สังคมก็ไม่ดีตามไปด้วย”
เสรีภาพสื่อมวลชนกับการเคารพสิทธิประชาชน
การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนถือว่าเป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจใดๆในระดับหนึ่ง อีกทั้งมีเสรีภาพอย่างเหลือเฟือในการนำเสนอข่าวหนึ่งเรื่อง แต่บางครั้ง ขอบเขตของเสรีภาพสื่อมวลชนกลับเหลื่อมล้ำกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การนำเสนอข่าวอาชญากรรม สื่อมวลชนมีภาวะเห็นคุณค่าผู้อื่นลดลง เกิดปัญหาความด้อยทางจิตสำนึกเชิงคุณธรรม กล่าวคือ สื่อมวลชนไม่เคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สื่อมวลชนขาดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตกเป็นข่าวและสื่อมวลชนดำเนินงานเพียงเพื่อธุรกิจสื่อตามกลไกตลาด ซึ่งสื่อมวลชนกล่าวอ้างได้ว่า ถ้าคนในสังคมได้รับสิทธิและเสรีภาพในการเลือกที่จะรับข่าวสาร ถ้าข่าวใดไม่ดี เขาก็มีสิทธิไม่รับและหันไปรับสื่อที่ดีกว่า แต่นั่นแสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนปัดความรับผิดชอบตกไปเป็นของประชาชนผู้รับสาร ในความเป็นจริงสื่อมวลชนถูกคาดหวังสูงในมีจิตสำนึกในระดับบุคคลที่เหนือกว่านั้น มีเรื่องความดีงามเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความเสียสละที่มาเหนือความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมในหน้าที่ “educate” โดยเป็นแบบอย่างสร้างค่านิยมที่ดีทางข่าวสารให้กับประชาชน
คนเฝ้าสื่อได้แต่หวังว่า…สื่อมวลชนควรรวมพลังกันเพื่อรื้อฟื้นจิตสำนึกแห่งความถูกต้องอันชอบธรรมอันตั้งอยู่บนพื้นฐานความดีงามของความเป็นมนุษย์ และตั้งตนเป็นผู้นำต้นแบบที่สร้างจิตสำนึกใหม่แก่ประชาชน ช่วยเยียวยาผู้ตกเป็นข่าวไม่ให้ต้องได้รับการตอกย้ำความเจ็บปวดไปตลอดชีวิต
อิทธิพลโทรทัศน์กับการนำสังคม
สื่อโทรทัศน์ได้รับความนิยมอย่างมากมายในเมืองไทย สถานีโทรทัศน์ของภาครัฐและเอกชนผุดขึ้นเกาะกระแสสื่อใหม่เพื่อสร้างฐานกลุ่มผู้ชมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องโทรทัศน์ออนไลน์ ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านเนื้อหา สามารถตอบสนองผู้ชมได้อย่างจุใจ แต่นำมาสู่ปัญหาคือ โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลนำคนดู แต่มีเนื้อหาเชิงเชิญชวน ปลุกปั่น และสร้างค่านิยมที่มิชอบให้เกิดผู้ชม เช่น การอัดโฆษณาเพื่อประโยชน์ด้านรายได้ทางการตลาดมากกว่าการใส่ใจเนื้อหาของผู้ชม รายการโทรทัศน์ดีๆ ที่ต้องการสร้างสรรค์ปัญญากลับถูกข้อจำกัดเรื่องโควต้าเวลาในการฉายโฆษณา ทำให้รายการโทรทัศน์บางรายการถูกถอดออกจากผัง รายการที่ยังติดผังรายการอยู่ได้ คือ รายการที่ยอมรับข้อตกลงเรื่องผังการออกอากาศโฆษณา นั่นหมายความว่า สาระของรายการถูกหั่นลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผู้ชมได้ดูคือ สาระกึ่งหนึ่ง และโฆษณาทุก ๆ 15 นาที ซึ่งมองว่าเกินความจำเป็นในการพยายามสร้าง Awareness ให้แก่แบรนด์สินค้า
คนเฝ้าสื่อก็ได้แต่หวังว่า…รายการโทรทัศน์ดีๆจะอยู่ในสังคมไทยไม่ได้หากประชาชนไม่ลุกขึ้นสนับสนุนให้ดำรงอยู่ ประชาชนฝันจะเห็นรายการโทรทัศน์ที่เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์เชิงบวกที่มีส่วนช่วยกันสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
วัฒนธรรมฮอลลีวูด กับอิทธิพลทางวัฒนธรรมในสังคมไทย
สื่อภาพยนตร์ที่เข้าสู่โรงภาพยนตร์ไทยปีละเป็นจำนวนมากนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์กระแสหลักจากฮอลลีวู้ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ประชาชนจะได้รับชมความทันสมัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่สิ่งที่มาพร้อมกับตัวภาพยนตร์และทรงอิทธิพลต่อทุกๆสังคมที่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเข้าไปถึง นั่นคือ ค่านิยมทางวัฒนธรรมตะวันตก ที่เสมือนเป็น “ดาบสองคม” มีทั้งค่านิยมที่ดี และไม่ดี ควบคู่กัน ค่านิยมด้านบวกจากวัฒนธรรมฮอลลีวู้ด คือ ภาพประวัติศาสตร์แห่งการเรียกร้องอิสรภาพจนได้รับชัยชนะ มิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างเด็กกับมนุษย์ต่างดาว การนำเสนอความสัมพันธ์ของสังคมปัจเจกชนนิยมที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยน การรื้อฟื้นการเห็นคุณค่าของครอยครัว ในขณะที่ค่านิยมด้านลบกลับถาโถมและสร้างพลานุภาพแก่สังคมไทย ได้แก่ วัฒนธรรมบริโภคนิยม ผ่านความหรูหรา ความฟุ้งเฟ้อของดาราตะวันตก ค่านิยมความรุนแรงผ่านฉากแอคชั่น ที่สนับสนุนวิธีใช้ความรุนแรงในการเอาตัวรอดในสังคมที่มีความขัดแย้ง และค่านิยมเสรีภาพทางเพศที่นำเสนอประเด็น Free Sex ที่ขัดกับค่านิยมวัฒนธรรมชาติตะวันออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกสังคมในโลก เพราะฮอลลีวู้ดมีอิทธิพลทรงพลังเหลือเกินในการเป็น “Masterpiece of World Norms”
คนเฝ้าสื่อได้แต่หวังว่า…การติดตามเนื้อหาของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดมีผลต่อความคิดและจิตใจของคนเราอย่างมาก ยิ่งเมื่อเราเกิดความประทับใจกับบางตอนของเรื่อง พฤติกรรมของคตัวแสดงนั้นก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่เรานำไปปฏิบัติได้อย่างมั่นใจโดยที่เราไม่อาจจะลบเลือน เส้นแบ่งแห่งความถูกต้องและความผิดพลาดจากเราไปอย่างไม่รู้ตัว
บริโภคนิยมผ่านสื่อโฆษณา
หนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นความจริงประการหนึ่ง คือ สังคมไทยถูกครอบงำด้วยภาวะบริโภคนิยม วัตถุนิยมผ่านสื่อโฆษณาที่สร้างสรรค์ภาพพจน์ของสินค้าจนโดดเด่นสะดุดตา เพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้าเกิดทัศนคติที่ดีต่อสินค้า จนกลายเป็นความจำเป็นเกินความต้องการจริง โฆษณาจำนวนมากให้ค่านิยมที่มองว่า การมีชีวิตที่หรูหราเป็นสิ่งที่พึงมี พึงเป็นจนเกินฐานะที่แท้จริงของบุคคล การโฆษณามีส่วนส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมให้เกิดความทะเยอะทะยาน ความต้องการอยากมีอยากเป็นมากยิ่งขึ้นในจิตใจ ซึ่งสังคมไทยถูกครอบงำอย่างถอนตัวไม่ขึ้นและปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆต่างก็ต้องการบริโภคสินค้าที่มีภาพลักษณ์ดีกว่าสินค้าที่แพคเกจดูไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งนี้เองที่เป็นบ่อเกิดค่านิยมฟุ่มเฟือยให้แก่สังคม ผ่านโฆษณาซึ่งเป็นสื่อมวลชนรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน
คนเฝ้าสื่อได้แต่หวังว่า…ผู้ผลิตชิ้นงานโฆษณาควรตระหนักว่าตนเป็นผู้บ่มเพาะและปลูกฝังค่านิยมบริโภคนิยมให้ซึมซาบลงในจิตใจคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว การมีจิตสำนึกรับผิดชอบส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยังไงตนก็คือ ผู้นำทิศทางความคิดของประชาชน จะละเลยส่วนนี้ไม่ได้
สื่อควรใช้ปัญญาในการตรวจสอบความจริง
หัวหอกทางปัญญาของสังคมอย่างสื่อมวลชนจำเป็นต้องใช้ปัญญาของตนเองในการทำหน้าที่ตรวจสอบความจริงให้กับสังคม สื่อมวลชนถูกเรียกร้องให้มีวิจารณญานในการทำหน้าที่อย่างสูง มีความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลนอกเหนือไปจากการมีประสบการณ์ในการทำข่าว หากสื่อมวลชนเสนอข้อเท็จจริงอย่างมีปัญญา อย่างยุติธรรม และเห็นแก่ศักดิ์ศรีของบุคคล จะเป็นเหตุให้เกิดการสร้างปัญญาในจิตใจคน ซึ่งสื่อต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพแห่งปัจเจกชน ในขณะเดียวกันประชาชนทุกคนต้องได้รับสิทธิในการป้องกันตัวเองให้พ้นจากสื่อที่ใช้อำนาจอย่างไม่สมควรด้วย
การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)
ในขณะที่สื่อมวลชนไทยยังไม่สามารถสร้างมาตรฐานและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนได้อย่างเป็นรูปธรรมสมบูรณ์ ประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะประเมินข่าวต่างๆอย่างรอบคอบ โดยใช้หลักแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือความจริง อะไรคือการตีความ ใช้หลักช้าในการตัดสินใจ ไม่เชื่อข่าวใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์มูลความจริง ต้องมีควารมคิดอ่านสูงเพียงพอ เชื่อในส่วนที่ดีไว้ก่อนเสมอ โดยไม่ปรักปรำเชื่อว่าคนที่ตกเป็นข่าวนั้นเป็นคนผิด เพราะเท่ากับเป็นการฆ่าคนบริสุทธิ์ เราต้องไม่พิพากษาปรักปรำคน ไม่รับฟังข่าวลือที่ไม่มีมูลเหตุใดๆ
คนเฝ้าสื่อได้แต่หวังว่า…เมื่อสื่อมวลชนมีจรรยาบรรณ และสื่อสารข่าวที่ถูกต้อง ผู้อ่านจะสามารถรับข่าวสารไปได้อย่างถูกต้อง เพื่อวิเคราะห์ตัดสินใจได้ถูกต้องด้วยและไม่ถูกพัดพาไปตามกระแสที่สื่อมวลชนก่อขึ้นมาเองด้วย
ข้อเสนอจัดเรตติ้งสื่อมวลชน
คนเฝ้าสื่อ ต้องการเสนอให้สังคมไทยมีการจัดเรตติ้งหรือการจัดอันดับสื่อมวลชนด้านต่างๆเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสื่อให้สูงขึ้น ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ แยกแยะได้ว่าสื่อใดมีคุณค่าควรแก่การติดตามรับรู้ข่าวสาร และสื่อใดไม่สมควรยกย่องในฐานะสื่อ โดยพิจารณาในแง่มุมต่างๆ เช่น 1. การจัดอันดับความเป็นกลางในการเสนอข้อเท็จจริง 2. การจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างสื่อ 3. การจัดอันดับสถิติการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท 4. การจัดอันดับการเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ 5. การจัดอันดับสื่อที่เสนอภาพและการใช้ภาษาที่สุภาพ
คนเฝ้าสื่อได้แต่หวังว่า…ถ้าไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างองค์กรธุรกิจสื่อเข้ามาขัดเรื่องการจัดตั้งองค์กรจัด เรตติ้ง สื่อไทยคงมีประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้ผู้รับสื่อคนไทยเป็นผู้ที่ฉลาดที่สุดก็เป็นได้ แต่ในกรณี ประเทศไทยแล้ว โอกาสที่จะเกิดองค์กรจัดเรตติ้งคงยาก เพราะไปกระทบเรตติ้งรายการที่สร้างสมมานาน ถ้าการจัดเรตติ้ง จะมาทำลายความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ขององค์กรสื่อก็คงเกิดได้ยาก นั่นคือ สื่อกลัวที่จะถูกตรวจสอบ!!
เจตนาของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จงใจวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์กรสื่อในประเทศไทยอย่างชนิดที่ว่ายก เครื่องหมดดีที่สุด แต่มองเห็นความต้องการในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เฝ้ามองพฤติกรรมของสื่อมวลชนมาตลอดชีวิต และมองเห็นข้อบกพร่องของสื่อมวลชนซึ่งสวมใส่หน้ากากของผู้มีอิทธิพลกำหนดความคิดของประชาชนทั้งประเทศ การ เสนอแนวคิดเพื่อส่งต่อให้สื่อมวลชนนำไปปรับปรุงพัฒนาทั้งหมดล้วนเป็น Good Will ของประชาชนคนหนึ่งที่ปรารถนา จะเห็นสังคมที่สื่อประกอบสร้าง”ความจริง” ให้รับรู้มากกว่าสื่อประกอบสร้าง”ความเสมือนจริง” โดยเปกค่านิยมการไม่ ยอมรับความจริงในภายหลัง ซึ่งนั่นไม่ใช่หนทางไปสู่สังคมแห่งการพัฒนาของประเทศไทย
ยินยอมและพร้อมรับฟังข้อบกพร่องของสื่อมวลชนรุ่นพี่ทั้งหมด ในฐานะนักเรียนเรียนสื่อที่กำลังจะก้าวไปสวม หน้ากากสื่อในอนาคต และมองเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนเข็มทิศชี้ชะตาประเทศไทยดีๆเล่มหนึ่ง ซึ่งขีดสร้างจาก ข้อมูลและความจริงของปากคำประชาชนที่ไม่ต้องการให้สื่อดำรงตนไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงหลักความถูกต้องทั้ง ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร และจรรยาบรรณที่มาพร้อมกับการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวผู้ตกเป็นข่าว
“คนเฝ้าสื่อ” พยายามตั้งคำถามบทบาทหน้าที่ จรรยาบรรณ และใส่ความหวังของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชนลง ไปอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ช่วยหาคำตอบที่เหมาะสม เพื่อกำหนดท่าทีของสื่อมวลชนในบริบทที่ควรจะเป็น ที่ถือว่า คนเฝ้าสื่อทำหน้าที่ผู้ถามและผู้ตอบที่สร้างสรรค์ ถึงแม้ในความเป็นจริง คำถามและคำตอบเหล่านั้นจะถูกกำนหดด้วยตัว แปรบริบททางสังคมบางประการ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดขึ้นต่อการปฏิบัติของ สื่อมวลชนในสังคมไทย
การพูดออกมาเช่นนี้ย่อมดีกว่าไม่พูด เพราะการพูดออกมาจะทำให้รู้ว่าเราเจตนาส่งสารถึงใคร หนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่าจะถูกส่งไปถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่วนในแง่ของการนำไปปฏิบัติ จะเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่นั้น ก็ต้องรอกระบวนการพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนไปตามวาระสำคัญก่อนหลัง
สำนวนการเขียนที่เล่าตรงไปตรงมา สื่อว่าปัญหาคืออะไร ตัวอย่างที่เป็นปัญหาคืออะไร ทางแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นคืออะไร นี่คือ จุดเด่นของ “คนเฝ้าสื่อ” พูดตรงประเด็น ตอบตรงประเด็น!
ถึงแม้ในใจจะคิดว่า สื่อมวลชนควรเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในการพิจารณาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองมีความวิกฤตมากกว่าบทบาทสื่อมวลชนซึ่งสามารถขัดเกลา ปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง การยกยอดปฏิรูปสื่อมวลชนออกไปก็สมควรแก่เหตุ แต่ไม่ควรยกทิ้ง เพราะสื่อคือหอกดาบแห่งข้อมูลไม่แพ้ทหารที่มีอาวุธทีเดียว
ถ้าสื่อยืนอยู่ข้างความจริง ทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม ถ้าสื่อยืนอยู่ข้างความยุติธรรม ทุกคนจะได้รับความเสมอภาค ถ้าสื่อยืนอยู่ข้างความรับผิดชอบ ผู้รับสื่อจะได้รับสารที่เหมาะสม ถ้าสื่อยืนอยู่ใต้อำนาจ ผู้รับสื่อจะตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ ถ้าสื่อยืนอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ ผู้รับสื่อจะถูกล่อให้รับสิ่งที่มีโทษ ถ้าสื่อยืนอยู่ใต้อคติ ผู้รับสื่อจะเป็นฆาตกรประหัตประหารเหยื่อสื่อ ถ้าสื่ออยู่ใต้อารมณ์ ผู้รับสื่อก็จะตัดสินตามกระแสเหนือเหตุผล
ถูกต้องครับ! ถ้าสื่อเป็นเช่นไร ผู้รับสื่อก็เป็นเช่นนั้น…

ภาพ : publicthaionline